โอนเงินผ่านเอทีเอ็มครั้งแรกในชีวิต

นึกดูแล้วก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะครับ ผมใช้เอทีเอ็มมาจนถึงตอนนี้ก็หลาย สิ…เอ่อ ปีอยู่ ผมไม่เคยโอนเงินผ่านเอทีเอ็มเลยสักครั้ง คงเป็นเพราะว่า ที่ทำงานของผมก่อนหน้านี้อยู่ในย่านที่มีธนาคารแทบจะครบทุกแห่งที่ต้องทำธุรกรรมการเงิน การเดินไปธนาคารก็เลยใกล้เท่ากับเดินไปเอทีเอ็ม จะฝากจะถอนจะโอนอะไรก็ใช้วิธีเดินไปที่ธนาคารได้เลย แต่ตอนนี้ย้ายที่ทำงานมากลายเป็นว่าธนาคารที่อยู่ใกล้ที่สุด (คือข้างล่างตึก) เป็นธนาคารที่ไม่ได้ทำธุรกรรมอะไรด้วยเลยสักนิด เวลาจะฝากจะถอนอะไรก็เลยต้องเดินทางกันวุ่นวาย

จนกระทั่งเมื่อวานนี้แหละครับที่มันมีเรื่องฉุกเฉินที่ต้องโอนเงินกันแบบปัจจุบันทันด่วน หันรีหันขวางไม่รู้จะทำยังไงดี ผมก็เลยตัดสินใจว่า เอาล่ะวะ ถึงเวลาเสียที ก็เลยได้ลองโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มเป็นครั้งแรก ก่อนจะไปก็ถามไถ่น้องๆที่ออฟฟิศไว้ก่อนว่ามันต้องทำยังไงบ้างวะ น้องมันมองหน้า เหมือนไม่เชื่อ ต้องบอกว่า กูไม่ได้มุข ถามจริงๆเว้ย เสียฟอร์มจริงๆเลยผม

สำเร็จไปได้ด้วยดีครับ เพิ่งรู้เหมือนกันว่า มันต้องเสียเงินค่าโอนด้วย ๒๕ บาท อะไรวะ โอนเงินขี้ปะติ๋วแค่นี้คิดเงินตั้งแพง ทำไมแบงก์มันค้ากำไรเกินควรขนาดนี้เนี่ย?

20 thoughts on “โอนเงินผ่านเอทีเอ็มครั้งแรกในชีวิต

  1. หมื่นบาทแรก เห็นว่าเสียประมาณนี้ครับ หมื่นต่อไปก็เพิ่มเรื่อยๆ

  2. คิดตามยอดเงินด้วย? โอ้ววว… โอนเงินหมื่นที่สองมันเพิ่มอะไรขึ้นมาจากหมื่นแรกไม่ทราบ ถึงต้องคิดเงินเพิ่ม ถึงว่า พวกไทเกอร์สลีปอีต

  3. I’m wondering how the online banking work in Thailand. If you have a chance, could you write some article? Thank you in advance krub.

  4. ไม่มีบัตรเอทีเอ็มอ่ะ

  5. คุณ lek ครับ ผมก็อยากเขียนนะครับ แต่ไม่ค่อยมีข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ตรงครับ เพราะผมไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ ถ้ามีโอกาสได้คุยกับคนที่ใช้อยู่จะเอามาเล่าต่อนะครับ

    คุณ Khun T ครับ เจ๋งจริงๆ หายากนะเนี่ย สมัยนี้แล้วยังไม่มีบัตรเอทีเอ็มอ่ะ

  6. ที่จริง 25 บาท ถ้าคิดถึงค่ารถในกรุงเทพหรือค่าเสียเวลาต่อแถวนานๆ ก็ไม่แพงนะครับแล้วแต่ว่าเรากำลังมีงานยุ่งหรือสะดวกไปธนาคารแค่ไหนด้วย (ลดโลกร้อนได้อีกต่างหาก)

    ถ้าโอนผ่านเน็ตช่วงนี้ยังฟรีอยู่ครับ ผมใช้เป็นประจำ

  7. ถ้าเป็นโอนระหว่างธนาคาร เค้าจะต้องมีค่า transaction ระหว่างกันครับ
    เช่น โอนจากธนาคาร A ไปธนาคาร B ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อ จาก A ไป B (คล้ายๆ ของมือถือที่ต้องจ่ายค่าเชื่อมต่อระหว่างค่าย) ค่าทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคาร A ฯลฯ
    ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ ทางธนาคารก็ต้องให้ลูกค้าเป็นคนแบกรับไป (และแน่นอน ทางธนาคารก็ต้องได้กำไรจากตรงนี้เช่นกัน)

    ผมเองก็นานๆ ทีใช้บริการนี้ที … ก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับค่าบริการเหมือนกันครับ

  8. ตั้งแต่กลับมาทำงานก็ไม่มีเอทีเอ็ม เพราะธนาคารอยู่ในตึกออฟฟิศ ธนาคารอื่นๆ ที่ใช้ ก็ไม่ยอมทำบัตรเอทีเอ็ม เพราะแค้นใจที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 😦

    ตอนหลังจำใจต้องทำบัตรของธนาคารสีเขียว เพราะจะซื้อขายกองทุนผ่านโฟนแบ็งค์กิ้ง (ก่อนหน้านี้เขายังไม่มีบริการทางเน็ท) นี่เพิ่งยกเลิกเอทีเอ็มไป เพราะทำบัตรหาย -_-” จะทำบัตรใหม่ต้องเสียค่าออกบัตรใหม่ เลยเปลี่ยนไปทำบัตรเครดิตแทน (บัตรเครดิตเขาผูกบัญชีออมทรัพย์ได้) ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแร้ววว อิอิ

    ปล. ลูกค้าอินเทอร์เน็ทแบ้งค์กิ้งตัวจริงอยู่ตรงนี้ มีของธนาคารสีเขียว ธนาคารสีม่วง ธนาคารก้างปลา ธนาคารตราครุฑ (อันหลังนี่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรอ่ะ แหะๆ) ว่าแต่คุณ lek อยากรู้เรื่องอะไรหละคะ

  9. โอนเงินทางเน็ต อย่าโอนข้ามธนาคารนะครับ ผมเจอค่าโอนไป 100 บาท

    จุกเลย ค่าโง่ครั้งนี้

  10. ทุกธนาคารมีรายได้จากค่าโอนผ่านเอทีเอ็มสูงมากในช่วงที่มีบอลโลก เหอๆ

  11. ใช่ครับคุณ siroz ผมถึงสงสัยไงว่า การโอนเงินหมื่นบาทกับแสนบาทมันต่างกันยังไงสำหรับการทำทรานแซคชั่น เพราะมันก็คิดเป็นรายการเดียวเหมือนกัน จะบอกว่าใช้เวลานานกว่าก็ไม่ใช่ ก็ในเมื่อสปีดคอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้มันเร็วจะตายไป แบงก์ค้ากำไรเกินควรนี่นา …

    ทำไมคุณ nitbert ถึงต้องยุ่งเกี่ยวกับแบงก์เยอะขนาดนั้นเนี่ย แล้วใช้แบงก์กิ้งออนไลน์นี่ แบงก์ไหนเวิร์คสุดครับ?

    คุณ RedHooligan ครับ ขอบคุณครับที่เตือน เพราะถ้าผมต้องโอนก็ข้ามแบงก์เหมือนกัน ถ้าเจอ ๑๐๐ นึงคงบ่นยิ่งกว่านี้อีก (คนอ่านคงนึก ไอ้นี่ขี้บ่นชิบเป๋ง)

    คุณสุมาอี้ครับ ผมว่าเอาใกล้ๆ แค่ช่วงปลายๆเดือนธันวาคมนี่ก็พอแย้ว คงโอนกันกระหน่ำน่าดูล่ะครับ ฮิ้ววววว…

  12. มีหลายธนาคาร เพราะขี้เกียจไปเข้าคิวที่เคาน์เตอร์ ถ้าธนาคารไหนที่มีอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งให้ใช้ จะรีบสมัครทันที ถามว่าของธนาคารไหนเวิร์คสุด ถ้าวัดจากที่ใช้บริการพื้นๆ (เช็คยอด จ่ายบิล โอนเงินไปบุคคลที่ 3 (ธนาคารเดียวกัน) หลังๆ นี้ก็มีซื้อกองทุนด้วยเหมือนกัน) ก็ไม่ค่อยแตกต่างค่ะ

    เมื่อก่อนธนาคารสีม่วง จะยุ่งยากเรื่องการแก้ไขข้อมูล เพิ่มบัญชีฯลฯ ต้องไปที่สาขา แต่หลังจาก launch เว็บใหม่ (ซึ่งล่มไปประมาณ 3 รอบกว่าจะ implement สำเร็จ) ก็รู้สึกจะสะดวกขึ้น ธนาคารก้างปลายังไม่มีบริการโอนไปบุคคลที่ 3 อย่างอื่นๆ ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย การแสดงผล user interface แล้วหละค่ะ

  13. เดี๋ยวเอาไว้โอกาสเหมาะๆ ผมลองสมัครใช้บ้างดีกว่า เผื่อจะมีมุขใหม่ๆมาเขียนบล็อกได้อีก เย้ …

  14. เรื่องค่าธรรมเนียม ผมคิดว่า มันคงเป็นเหตุผลเีดียวกับการทำ money transfer แบบอื่นครับ (เช่น cheque clearing หรือ ทำ L/C พวกนี้ ก็คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ด้วย ใช่มั้ยครับ?)
    ผมไม่แน่ใจว่า สำหรับธนาคาร สิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหลังของการโอนเงินในแบบนี้ คือ อะไร
    คือ การลงบัญชีกันเฉยๆ ว่า ฉันให้เธอกี่บาท เธอให้ฉันกี่บาท .. หักกลบลบหนี้แล้ว ฉันต้องเอารถขนเงินไปให้เธอกี่บาท หรือเปล่า
    (ถ้าเป็นแบบนี้ โอนเงินไปเยอะๆ ก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายเยอะขึ้น)

    น่าคิดเหมือนกัน สงสัยต้องลองถามคนทำงานธนาคารดูครับ

  15. นั่นสิครับ มีใครที่ทำงานธนาคารแล้วบังเอิญมาอ่านบล็อกนี้บ้างไหมเนี่ย?

  16. โอนทาง ATM เนี่ยบ่อยมากเลย
    ยอมเสียตังค์ค่าโอน เพราะคิดแล้วถูกว่าค่ารถไปโอนที่ธนาคาร ประหยัดเวลาด้วย
    บ้านเราว่าค่าโอนแพงแล้ว ธนาคารในอเมริกาก็โขกค่าโอนแพงเหมือนกันค่ะพี่ เรียกว่ากะรวยจากค่าธรรมเนียมกันเลยทีเดียว
    เข้ามาบล็อกนี้ทีไร…ต้องกลับไปคิดเรื่องการเงินของตัวเองทุกทีเลย

  17. น้อง kampooh ชมใช่ไหมนี่?

    ขอคอนเฟิร์มก่อน จะได้ฮิ้วววววว… 8)

  18. จริงๆ แล้วตอนนี้ ผมนั่งทำงานที่ธนาคารอยู่นะครับ (แต่ไม่ได้ลงไปคลุกกับวิธีการทำงานในรายละเอียดซักเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยรู้เรื่องกับใครเค้า)
    ผมถามมาให้แล้วครับ
    ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) จะมีระบบกลางขึ้นมาระบบนึง ชื่อว่า BAHTNET ใช้สำหรับ งานด้าน money transfer settlement ระหว่างธนาคาร โดยทำงานเป็นแบบ online
    ทุกธนาคาร จะต้องมีบัญชีสำหรับระบบนี้ ไว้ที่ BOT เมื่อมีรายการโอนเงินเข้ามา ธนาคารต้นทางก็ต้องส่ง transaction ไปที่ BAHTNET เพื่อให้ตัดเิงินจากบัญชีของตัวเอง ไปเข้าบัญชีของธนาคารปลายทาง และแจ้งไปที่ธนาคารปลายทางว่า โอนเิงินไปเข้าบัญชีไหน (ของลูกค้า) ซึ่งตรงนี้ ระบบ BAHTNET จะรับผิดชอบในการทำ settlement รายการให้
    เท่าที่ฟังมา ทาง BAHTNET จะคิดค่าธรรมเนียม ของ transaction ที่เกิดขึ้นตามยอดเงินที่โอน

    นอกจากนั้น น่าจะมีประเด็นเรื่องการมีเงินสำรองในบัญชีไว้ที่ BAHTNET ด้วย เพราะการทำ transaction เป็นแบบ online ตัดบัญชีกันทันที
    ถ้ามีการโอนเงินออกจากธนาคารมากๆ แปลว่า ธนาคารก็ต้องสำรองเงินไว้ที่ BAHTNET มากๆ ซึ่งตรงนี้น่าจะทำให้เกิดค่าใช้จ่าย (เช่น แทนที่จะเอาเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่น กลับต้องเอามาสำรองไว้เผื่อโอน)

    อันนี้ จากที่ฟังคนที่รู้การทำงานของธนาคารมาครับ .. ความถูกต้องอาจจะไม่ 100% นะครับ (ผมอาจจะจำมาผิดๆ)

  19. เข้ามาcomfirm ว่าชมค่ะ
    ด้วยใจจริง

  20. โอ้ว … ขอบคุณมากครับคุณ siroz ข้อมูลละเอียดยิบอย่างนี้ช่วยได้มากเลยครับ

    ขอบคุณค่า คุณน้อง kampooh

Leave a reply to mymoney Cancel reply